นโยบายการบริหาร

     
1. ด้านการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา
  1.1 ด้านการผลิตบัณฑิต
    1) ส่งเสริมให้มีการผลิตบัณฑิตโดยใช้รูปแบบการสอน ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เน้นให้มีการฝึกปฏิบัติให้สอดคล้องกับภาคทฤษฎี ให้มีความรู้ ความสามารถเพียงพอต่อการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
    2) ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมการพัฒนานักศึกษาเพื่อให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีวินัย เข้มแข็ง อดทน สอดแทรกการพัฒนาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ฝึกฝนให้เกิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีจิตอาสาและความรับผิดชอบต่อสังคม
    3) ส่งเสริมการผลิตครูที่มีอุดมการณ์ มีความรู้ทางวิชาการ และมีความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานวิชาชีพ เน้นการฝึกปฏิบัติจริงด้วยหลักสูตรที่ทันสมัย
  1.2 ด้านการบริหารวิชาการ
    1) เร่งรัดให้มีการพัฒนาและปรับปรุงทุกหลักสูตรให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ถูกต้องตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ
    2) ส่งเสริมให้นำเครื่องมือด้านประกันคุณภาพการศึกษามาเป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการงานวิชาการ
    3) สนับสนุนให้มีการพัฒนากระบวนการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่เป็นระบบ มีความหลากหลาย ให้ได้เข้าเรียนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียน โดยเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางการศึกษา
    4) เร่งรัดให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ แหล่งสนับสนุนการเรียนการสอน และการค้นคว้าของนักศึกษา บุคลากร และบุคคลทั่วไป โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มาใช้ในการดำเนินงาน
2. ด้านการวิจัย
  2.1 ส่งเสริมการวิจัยเชิงรุกที่มีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ทิศทางการวิจัยตามยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติและของมหาวิทยาลัย ให้สามารถนำผลการวิจัยไปเผยแพร่และใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
  2.2 ส่งเสริมการวิจัยในลักษณะบูรณาการวิชาการต่าง ๆ โดยเน้นการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การบริการทางวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ
  2.3 ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีความแข็งแกร่งในงานด้านการวิจัยโดยกำหนดให้มีระบบและกลไก ในการพัฒนาให้นักวิจัยสามารถเข้าสู่การเป็นนักวิจัยมืออาชีพที่มีคุณภาพสามารถเผยแพร่ผลงานวิจัย ได้ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
  2.4 สนับสนุนนักวิจัยที่มีขีดความสามารถ ให้พัฒนางานวิจัยและงานสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถให้บริการงานวิจัยแก่หน่วยงานภายนอกได้ต่อไป และการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
  2.5 สนับสนุนการสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งเครือข่ายและพันธมิตรความร่วมมือด้านการวิจัยกับภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
  2.6 เร่งรัดให้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการการวิจัย โดยจัดให้มีกระบวนการสนับสนุนการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักวิจัยได้เป็นอย่างดี
3. ด้านการบริหารและการจัดการองค์กร
  3.1 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพลดความซ้ำซ้อน ปรับลดขั้นตอนให้มีความกระชับและเกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน การกระจายอำนาจการบริหารที่เป็นรูปธรรมและเหมาะสม
  3.2 มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการใช้หลักการบริหารจัดการที่ดีรวมทั้งใช้หลักธรรมาภิบาล ในการบริหารมหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
  3.3 ผลักดันให้มีการกำหนดและปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย ครบถ้วนเป็นหมวดหมู่ เพียงพอ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานในปัจจุบัน
  3.4 ให้มีระบบการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ มีดัชนีชี้วัดความสำเร็จและเกณฑ์การประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานในทุกระดับ โดยนำผลการวิจัยสถาบันมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย
  3.5 ส่งเสริมให้มีการระดมทรัพยากรและบุคลากรของมหาวิทยาลัยในการจัดหารายได้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง
  3.6 สนับสนุนให้มีการปรับปรุงหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับภารกิจที่มากขึ้นและขยายตัว และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์
  3.7 ควบคุมการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย โดยมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการบริหาร
4. ด้านการพัฒนาบุคลากร
  4.1 ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายวิชาการให้มีคุณวุฒิ ตำแหน่งทางวิชาการ ความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขา สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนด
  4.2 ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสายปฏิบัติการให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานในแต่ละตำแหน่ง
  4.3 ส่งเสริมให้มีการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน การพิจารณาความดีความชอบที่ยุติธรรม การให้รางวัลในการทำความดี สร้างโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ตลอดจนการจัดสวัสดิการที่เพียงพอและเหมาะสม
5. ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
  5.1 ผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักที่สำคัญในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ร่วมสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับสังคมส่วนรวม เพื่อร่วมกันทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้มีความยั่งยืน
  5.2 สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยการทำงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น ทั้งด้านการสืบค้น บันทึก อนุรักษ์ ริเริ่ม พัฒนา และการเผยแพร่สู่สาธารณชน
6. ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรและการเงิน
  6.1 ส่งเสริมให้นำทรัพยากรของมหาวิทยาลัยมาจัดหารายได้หรือผลประโยชน์ด้วยวิธีการที่หลากหลายเหมาะสมกับศักยภาพที่มีอยู่ ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
  6.2 สนับสนุนให้มีการใช้ทรัพยากรของทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยร่วมกันให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
  6.3 สนับสนุนให้จัดสรรงบประมาณทั้งเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย ตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการประจำปี
  6.4 ส่งเสริมให้นำข้อมูลทางการเงินมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนา ปรับปรุง ในด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดความมั่นคงในการบริหารทรัพยากร และการเงินของมหาวิทยาลัย
7. ด้านการบริการวิชาการและความร่วมมือกับท้องถิ่น
  7.1 ส่งเสริมให้มีการบริการวิชาการในรูปแบบที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ชุมชน และท้องถิ่น โดยเน้นการนำผลการวิจัยมาใช้เป็นองค์ความรู้แก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
  7.2 ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนให้แสวงหาแนวทางในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน
  7.3 ส่งเสริมให้มีกิจกรรมเพื่อสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
  7.4 ส่งเสริมให้มีความร่วมมือในลักษณะของเครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งในด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
  7.5 ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐและเอกชนในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
8 ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
  8.1 ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการบริหารจัดการ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
  8.2 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการใช้งาน
  8.3 พัฒนาระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้มีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน สามารถนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
9 ด้านการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนและสากล
  9.1 เร่งรัดการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถในด้านภาษาและวัฒนธรรม ของกลุ่มประเทศอาเซียนและสากล
  9.2 ส่งเสริมให้มีการพัฒนาหลักสูตรที่เป็นสากลและสอดคล้องกับความต้องการในการเรียนรู้ในประชาคมอาเซียน
  9.3 ส่งเสริมให้มีหน่วยงานดูแลด้านอาเซียนศึกษา เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้แก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยและบุคลากรทุกภาคส่วนในสังคม
  9.4 ส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
  9.5 ส่งเสริมให้มีการสร้างความสัมพันธ์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรต่างประเทศ

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด : 11 ก.ค. 2562